วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 กองทัพบก และกองทัพเรือ ได้สรุปสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา พบว่าสถานการณ์ยังคงมีการปะทะอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการเสริมกำลังเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ช่องบก ช่องอานม้า ซำแต ช่องตาเฒ่า ภูมะเขือ ปราสาทตาควาย และกลุ่มปราสาทตาเมือนธม โดยมีการยิงปืนใหญ่ตกในพื้นที่พลเรือนหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในขณะเดียวกัน มีการอพยพพนักงานคาสิโนชาวกัมพูชาออกจากบ่อนบริเวณชายแดนฝั่งตรงข้ามช่องสายตะกู จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสรุปสถานการณ์ในพื้นที่สำคัญ ดังนี้
ช่วงบ่ายของวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 กำลังฝ่ายกัมพูชาได้ระดมยิงปืนใหญ่ ค. และ BM-21 อย่างหนัก พร้อมพยายามเข้ารุกรานพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ซำแต ภูผี ช่องตาเฒ่า และปราสาทตาเมือนธม โดยฝ่ายไทยได้ตอบโต้ด้วยอาวุธประจำกาย ปืนใหญ่ ค. และการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ช่องอานม้า ภูผี ช่องตาเฒ่า และช่องบันไดหัก
ฝ่ายไทยสามารถยึดควบคุมพื้นที่ภูมะเขือได้ทั้งหมดตามแนวเส้น 1:50,000 ส่วนพื้นที่ปราสาทตาควายยังคงมีความพยายามผลักดันจากฝ่ายกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง แต่จำกัดการใช้กำลังเนื่องจากอยู่ใกล้โบราณสถาน สำหรับพื้นที่ที่มีการปะทะหนัก ได้แก่ ภูมะเขือ ปราสาทตาเมือนธม ช่องบก ช่องอานม้า ซำแต และช่องตาเฒ่า
พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอกาบเชิง กับอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ โดยคาดว่าฝ่ายกัมพูชาอาจใช้วิธีการยิงปืนใหญ่โจมตีพื้นที่พลเรือน เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยยุติการสู้รบในสภาพเสียเปรียบ
ในส่วนของกองกำลังบูรพา กองทัพภาคที่ 1 ได้ดำเนินการผลักดันและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของฝ่ายกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย อันเป็นการละเมิดบันทึกความเข้าใจ (MOU) ปี 2543 รวมทั้งสิ้น 4 พื้นที่ ในเขตอำเภอตาพระยา 2 พื้นที่ และอำเภอโคกสูง 2 พื้นที่ จังหวัดสระแก้ว
ขณะที่พื้นที่จังหวัดตราด ฝ่ายกัมพูชาได้เปิดพื้นที่โจมตีใหม่ในเวลา 05.10 น. ของวันนี้ (26 กรกฎาคม) จากนั้นกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราดได้ตอบโต้ด้วยการเปิดปฏิบัติการ “ยุทธการตราดพิฆาตไพรี 1” ณ บ้านชำราก จังหวัดตราด โดยส่งกำลังพลและเรือป้องกันชายแดนเข้าไปผลักดันและทำลายพื้นที่ที่ทหารกัมพูชารุกล้ำเขตแดนไทย 3 จุด จนกระทั่งเวลา 06.40 น. ฝ่ายกัมพูชาต้องล่าถอยออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ด้านการอพยพประชาชน ได้มีการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัยตามแนวชายแดนเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยและศูนย์รวบรวมพลเรือนใน 4 จังหวัด ดังนี้
รวมประชาชนที่อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วทั้งสิ้น 97,431 คน (เพิ่มขึ้น 9,393 คน) ส่วนจังหวัดตราด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและรวบรวมจำนวนผู้อพยพ
ขณะที่การช่วยเหลือประชาชน กำลังจิตอาสาพระราชทานในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการช่วยเหลือประชาชน อำนวยความสะดวกในศูนย์พักพิงชั่วคราว และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และกำลังพลจิตอาสา 904 จาก ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน จ.ใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น จิตอาสา 904 129 นาย, จิตอาสาประชาชน 2,480 และ รด.จิตอาสา 220 นาย
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งโรงครัวพระราชทานเพื่อประกอบอาหารดูแลประชาชนผู้อพยพ โดยมีโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ 4 จังหวัด จำนวน 7 แห่ง พร้อมรถครัวประกอบอาหาร 9 คัน ซึ่งได้ผลิตข้าวกล่องเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่วันที่ 24–26 กรกฎาคม 2568 รวมจำนวน 100,100 กล่อง
สรุปสถานการณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากการปะทะชายแดนไทย–กัมพูชา ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.00 น.
เสียชีวิต: เพิ่ม 1 นาย
บาดเจ็บ: เพิ่ม 11 นาย
อย่างไรก็ตาม กองทัพไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ฝ่ายกัมพูชารุกล้ำอธิปไตยของไทย และขอประณามอย่างรุนแรงต่อการที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักมนุษยธรรม กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความมั่นคงที่พึงมีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ กองทัพไทยยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและดูแลความสงบสุขของประชาชนชาวไทยอย่างถึงที่สุด.